top of page

สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยจับมือกับ TPQI เพื่อร่างเกณฑ์การสอบวัดระดับวิชาชีพล่าม

  • Writer: ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
    ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
  • Mar 5, 2021
  • 1 min read

Updated: Mar 13, 2021



เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช. หรือ TPQI) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่างเกณฑ์การจัดสอบวัดระดับวิชาชีพล่ามเป็นครั้งแรกที่อาคารสปาฟา

ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก คุณ "กันต์" (วรกันต์ ทักขิญเสถียร) นักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพ สำนักบริหารคุณวุฒิวิชาชีพ 4 ประจำสคช. มาชี้แจงแนวคิดและขั้นตอนการวางเกณฑ์การจัดสอบวัดระดับเพื่อให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจพัฒนามาตรฐานวิชาชีพมาร่วมประชุมที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ทั้งหมด 9 ท่าน



กรอบคุณวุฒิที่สมาคมฯ นำเสนอยังกว้างไป


สมาคม TIAT ได้นำเสนอกรอบคุณวุฒิ 8 ระดับที่จัดทำไว้เมื่อเดือนมกราคมให้ทาง TPQI พิจารณา พบว่ากรอบดังกล่าวยังกว้างไป และขาดเกณฑ์การประเมินวิชาชีพอย่างเป็นระบบ

ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานวิชาชีพ คุณกันต์ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการฯ ทราบแนวทางการร่างกรอบคุณวุฒิทั้ง 8 ระดับ โดยยกกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ "การจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE)" เป็นตัวอย่าง


อยากให้พิจารณาว่าอาชีพล่ามมีเกณฑ์ความสามารถขั้นต้น (Minimum Requirement) ที่ตลาดต้องการเท่าไหร่ เขาอยากให้เริ่มต้นที่ระดับหนึ่ง จริงๆ หรือไม่ - TPQI

ย้อนกลับไปสมัยนั้น ทางคณะกรรมการวางมาตรฐานวิชาชีพ MICE เองก็มีความคิดอยากร่างมาตรฐานตั้งแต่ระดับที่ 1 เพื่อครอบคลุมเด็กฝึกหัดที่ทำงานในสายอาชีพ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่านิยามคุณวุฒิระดับที่ 1-3 นั้นกลับไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง เนื่องจากคุณวุฒิระดับที่ 1 ยังมีความสามารถไม่มากพอ จึงต้องเริ่มตั้งแต่ระดับ 3 เป็นต้นไป



กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแบ่งออกเป็น 8 ระดับ


กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติพัฒนามาจากกรอบคุณวุฒิอาเซียน โดยคุณวุฒิระดับต้น "เน้นให้ปฏิบัติได้ตามเกณฑ์การปฏิบัติงาน แต่ในระดับคุณวุฒิสูงๆจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่หรือวิธีการในการทำงานหรือคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ในอาชีพของตนเอง" (ที่มา: TPQI) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

นิยามคุณวุฒิทั้ง 8 ระดับตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (ที่มา TPQI)
ขั้นแรกอาจจะพิจารณาจัดทำแค่ 3 ระดับก่อน แล้วลองทดลองทำให้อยู่ตัว จัดฝึกอบรมจนได้ "แม่ไก่" เยอะๆ ก่อน แล้วค่อยต่อยอด ถ้าทำหมดทุกระดับตอนนี้ เราอาจจะหาจุดยืนไม่เจอ - TPQI

สมาคมฯ ได้รับคำแนะนำให้นำกรอบคุณวุฒิที่จัดไว้เบื้องต้นมา "ละลาย" เข้ากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยนำค่านิยามในกรอบคุณวุฒิมาวิเคราะห์และตีความก่อนวางนิยามใหม่ให้เข้ากับการปฏิบัติงานจริงในสายอาชีพล่ามหรือเรียกว่า "Functional Mapping"



สร้างกรอบโดยเริ่มจาก Functional Mapping หน่วยสมรรถนะและเกณฑ์การประเมิน

การวิเคราะห์ผังการทำงาน (Functional Mapping) คือเครื่องมือแยก "กระบวนการ/สมรรถนะ" ที่ล่ามพึงมีในการปฏิบัติงาน


...ลองศึกษากรอบมาตรฐานแล้วแตกออกมาเป็น นิยาม ความรู้ ทักษะ และทัศนคติต่ออาชีพ แล้วนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ตั้งต้นสมรรถนะอีกที - TPQI

คณะกรรมการฯ ในที่ประชุมได้หารือและระดมความคิดสมรรถนะล่าม โดยอิงเนื้อหาที่ได้กลั่นกรองจากการประชุมครั้งที่แล้วออกมาเป็นหน่วยสมรรถนะใหญ่และหน่วยสมรรถนะย่อย

หน่วยสมรรถนะย่อยจะเป็นตัวสะท้อนเกณฑ์การประเมิน เกณฑ์การประเมินนี้ก็จะเป็นชุดเครื่องมือตรวจสอบเกณฑ์ สะท้อนให้เห็นว่าเราตั้งเกณฑ์ผิดหรือไม่ เราค่อยกลับไปแก้เครื่องมืออีกที มันจะเป็นอย่างนี้สักพักหนึ่ง - TPQI

เมื่อเกณฑ์การประเมินและหน่วยสมรรถนะสอดคล้องกัน จึงค่อยนำเครื่องมือสอบวัดเกณฑ์ดังกล่าวไปนำร่องทดสอบ เราจะเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญของหน่วยสมรรถนะคือจะต้องเป็นวัตถุประสงค์ที่เป็นรูปธรรม วัดได้ และไม่ตัดสินด้วยอคติส่วนบุคคล (subjective) แต่ละข้อจะต้องกำหนดกรอบการประเมินว่าผลลัพธ์ใดอยู่ในระดับต่ำ กลาง หรือสูง


การวัดระดับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ภาษาเป็นอุตสาหกรรมที่วัดระดับยากเพราะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าดูกรอบคุณวุฒิ 8 ระดับแล้ว อาจจะต้องเริ่มอาชีพล่ามที่ระดับ 3 หรือ 4 เพราะนั่นคือระดับที่เริ่มแก้ไขปัญหาเองได้แล้ว

กันต์ ได้เสนอกรอบการวัดระดับภาษาที่สคช. พัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อ CEFR (Common European Framework of Reference for Language) การสอบนี้จัดทำเพื่อวัดระดับภาษาอังกฤษ "เพื่อการสื่อสาร" และ "เพื่อการสอน" ผู้สอบจะถูกวัดระดับสมรรถนะทางภาษา แบ่งออกเป็น A1 A2 B1 B2 C1 และ C2 โดยที่ A1 หมายถึงระดับเริ่มต้น และ C2 หมายถึงระดับชำนาญการ

ทางคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นว่าจะนำข้อสอบวัดระดับภาษาที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ และมุ่งให้ความสำคัญกับทักษะหลักอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพล่าม


เพราะเราเข้าใจดีว่า "ใช่ว่าคนที่รู้ภาษา จะเป็นล่ามได้ทุกคน"



ก้าวถัดไป


คณะกรรมการฯ จะเร่งร่างหน่วยสมรรถนะ หน่วยสมรรถนะย่อย และเกณฑ์การประเมินทั้งหมด ก่อนนำเสนอ TPQI อีกทีภายใน 1 เดือน โดยวางเป้าหมายคลอดเกณฑ์จัดสอบล่ามภายในเดือนตุลาคม 2021 ก่อนนำร่องกับภาคีเครือข่าย

เมื่อทำมาตรฐานเสร็จแล้ว ทาง TPQI คาดหวังว่าภาคการศึกษาจะนำมาตรฐานนี้ไปใช้เป็นแนวทางจัดทำหลักสูตรหรือฝึกอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพล่ามในองค์รวมต่อไป ในระยะยาวมาตรฐานนี้จะช่วยยกระดับวิชาชีพล่ามให้ได้มาตรฐานสากลและสร้างเครือข่ายวิชาชีพให้แก่ "ล่ามมือใหม่" และ "มือเก่า" ในประเทศไทย


คณะกรรมการฯ จะนัดหารือกันครั้งถัดวันที่ 13 มีนาคม ติดตามอัปเดตเร็วๆ นี้ค่ะ


รู้จักสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI)

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization) โดยใช้ตัวย่อ TPQI เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ จัดทำมาตรฐานอาชีพให้ได้มาตรฐานสากล กำหนดองค์กรเพื่อการรับรองสมรรถนะบุคคล เป็นศูนย์กลางข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานวิชาชีพ และดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านสังคมและคุณภาพชีวิตด้านนโยบายการศึกษา โดยเร่งรัดจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

Комментарии


©2023 by ISAC - Interpreter Standards and Accreditation Centre

bottom of page