top of page

สัมมนา "แปลให้ 'ว้าว' เพื่อก้าวสู่อาชีพนักแปลและล่าม"

  • Writer: ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
    ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
  • Jun 28, 2021
  • 2 min read


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2021 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "แปลให้ 'ว้าว' เพื่อก้าวสู่อาชีพนักแปลและล่าม" งานนี้จัดขึ้น "ฟรี" ผ่านซูม มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 350 คน ประกอบด้วย อาจารย์/นักวิจัย นิสิตนักศึกษา นักแปล/ล่ามอาชีพ รวมทั้งผู้ที่สนใจอาชีพแปลและล่าม


ใครที่พลาดงานครั้งนี้ ชมย้อนหลังได้ที่ Youtube ช่อง Terptalk ค่ะ




เว็บบินาร์สำหรับ "นักแปล" และ "ล่าม"

งานครั้งนี้ผู้จัดมีธีมชัดเจน คือ แชร์ประสบการณ์และเคล็ดวิชาให้ทั้งนักแปลและล่าม โดยครึ่งเช้าเป็นเนื้อหาที่คัดสรรมาเพื่อ "นักแปล" ส่วนครึ่งบ่ายจัดเต็มให้ "ล่าม"




วิทยากรจากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ NIDA และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

สัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักแปลและล่ามหลากหลายสาขา ทั้งงานแปลวรรณกรรม งานแปลสื่อโสตย์ งานแปลเทศานุวัฒน์ (Localization) วิทยากรแต่ละท่านเป็นผู้ให้บริการแปลและงานล่ามจริง ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟังเนื้อหาเคล็ดลับเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติอย่างครบรส



"ภาพรวมการแปลรูปแบบต่างๆ" โดยอาจารย์ศศี จันทร์ประพันธ์

อาจารย์ศศีได้แชร์ประสบการณ์ฐานะผู้สอน ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ใช้บริการ​แปลให้ฟังเรื่อง "ความเท่าเทียม" หรือ Equivalence และทักษะที่ทักแปลจำเป็นต้องมี นักแปลมิใช่อาชีพที่ต้องรู้ภาษาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องรู้จักวิเคราะห์และตีความข้อมูลด้วย นอกจากนี้ นักแปลยังต้องรู้จักศิลปะการถ่ายทอดสารให้เท่าเทียมกันทั้งในระดับความหมาย (Semantic) และอรรถรส (Cumminicative) ตลอดจนต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันอีกด้วย (Multitasking)



"แปลความรักเป็นจักรวาล: ความรู้รอบตัวสำหรับนักแปล" โดย ผศ. ดร. อรองค์ ชาคร

อาจารย์อรองค์ หรือพี่ "โอ๋" พาผู้เข้าร่วมย้อนเวลากลับไปรู้จักเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเทพปกรณัมและประวัติศาสตร์การแปล ตั้งแต่นักบุญเจอโรม ผู้อุปภัมภ์นักแปล หินโรเซสตา และความเกี่ยวข้องของเกร็ดประวัติศาสตร์กับงานแปล เราได้เห็นโครงสร้างประโยคภาษาฝรั่งเศสที่แปลเปลี่ยนไปในฉบับแปลภาษาอังกฤษ



"ของมันต้องรู้ ของมันต้องมี: ทรัพยากรสำหรับนักแปล" โดย คุณพรธีรา ศรีพัฒนธาดากุล

คุณ"เจี๊ยบ" เปิดกรุทรัพยากรที่นักแปลทุกคนต้องมี ตั้งแต่พจนานุกรมภาษาไทยฉบับตีพิมพ์ไปจนถึงสื่อออนไลน์ เช่น ศัพท์บัญญัติ 15 สาขาจากราชบัณฑิต ฐานข้อมูลคำทับศัพท์ นอกจากทรัพยากรภาษาไทยแล้วคุณเจี๊ยบยังได้เปิดกรุลิงก์ทรัพยากรภาษาอังกฤษที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าย Longman, Cambridge, Oxford รวมถึง Oxford ฉบับตีพิมพ์พิเศษที่มูลค่าสูงถึง 100 ปอนด์ต่อปี พจนานุกรมที่คุณเจี๊ยบหยิบยกมาเป็นพิเศษคือ พจนานุกรมไทย-อังกฤษดำเนิน การเด่น พจนานุกรม Longman พจนานุกรมไทยฉบับมติชน และ คลังคำ เป็นประโยชน์และใช้งานได้จริงสำหรับนักแปลอังกฤษ-ไทย และไทย-อังกฤษ



"การแปลเพื่อ Localization และเครื่องมือช่วยแปล" โดย พรทิตา พลทะกลาง

"ขวัญ" เปิดโลกทัศน์งานแปลในแวดวง "Localization" (L10N) และพาผู้เข้าร่วมสัมมนาไปรู้จักกับคำเฉพาะในวงการนี้ เช่น TEP (Translation, Editing, Proofreading) ตลอดจนบทบาทของนักแปลที่อาศัย Machine Translation และเครื่องมือช่วยแปลประเภทต่างๆ เช่น Translink และ Trados ในวงการ Localization นักแปลไม่ได้ทำหน้าที่แปลอย่างเดียว แต่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของกระบวนการแปลทั้งหมดและทำงานร่วมกันกับ PM



"เส้นทางอาชีพของนักแปลบทภาพยนตร์" โดย อนิรุธ ณ สงขลา

คุณ "อู๋" แชร์ประสบการณ์นักแปลบทพากษ์และบทบรรยายประสบการณ์กว่า 30 ปี ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับฟัง ตั้งแต่ประสบการณ์แปลให้ช่องโทรทัศน์ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ งานแปลสื่อโสตย์ต่างจากงานแปลปกติเพราะไม่ได้แปลความตรงๆ แต่ต้องแปลอรรถรสให้สอดคล้องภายในกรอบเวลาและจำนวนบรรทัดที่จำกัด นอกจากนี้บทแปลที่ทำให้กับนักพากย์และทำคำบรรยายใต้ภาพก็ไม่ยังแตกต่างกัน บทพากย์อาศัยจังหวะพูดและการซิงก์คำแปลให้เข้ากับรูปปากของไฟล์ต้นฉบับ ในขณะที่บทบรรยายใต้ภาพนั้น "ง่าย" กว่า งานนี้คุณอู๋ยังได้เผยค่าตัวนักแปลซับไตเติ้ลขั้นต่ำพร้อมบอกเส้นทางอาชีพของนักแปลบทภาพยนตร์อีกด้วย




"ภาพรวมการล่ามรูปแบบต่างๆ" โดย อัครินทร์​ สถิตย์​พัฒน​พันธ์

ในช่วงบ่าย คุณ"อาร์ค" เปิดโลกอาชีพ "ล่าม" ผู้แปลงานด้วยเสียง โดยพูดถึงนิยามของอาชีพล่ามที่บัญญัติในแหล่งข้อมูลแต่ละประเภท ตลอดจนลักษณะการทำงานของล่าม ตั้งแต่สมัยอดีตกาลล่ามมิได้เป็นเพียงผู้ถ่ายทอดภาษาแต่ยังเป็นผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ ล่ามยังแบ่งออกได้หลายประเภท ตั้งแต่ล่ามภาษามือ ล่ามแปลเพลงในคอนเสิร์ต ล่ามสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ล่ามพูดพร้อม และล่ามพูดตาม ผู้ฟังได้เพลิดเพลินกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และชีวิตล่ามผ่านภายนตร์เรื่องต่างๆ ที่ตลก โปก ฮา



"การปฏิบัติงานล่ามพูดตาม" โดย คุณอภิชาต เพิ่มชวลิต

หลังจากเห็นภาพรวมของอาชีพล่ามแล้ว อาจารย์ "ต้น" ได้นำเสนอเทคนิคการจดบันทึกของล่ามพูดตามแบบต่างๆ เช่น จดเป็นคำ ตัวย่อ สัญลักษณ์ และรูปภาพ ทีเด็ดอยู่ที่อาจารย์ต้นได้สาธิตวิธีการจดบันทึกให้ผู้ชมทางบ้านเห็นกันจะๆ พร้อมลองทดสอบให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาอ่านบันทึกของล่ามอีกด้วย เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมทางบ้านกันกราว


"การปฏิบัติงานล่ามพูดพร้อม" โดย คุณอนิรุติ เจริญสุข

หลังจากเรียนรู้เทคนิคล่ามพูดตามแล้ว คุณ "โอ" ได้แชร์ทักษะที่ล่ามพูดพร้อมต้องมี พร้อมสาธิตวิธีการทำงานในห้องประชุมให้เห็นกันสดๆ โดยใช้ฟังก์ชั่นล่ามบน Zoom ตัวอย่างสื่อที่นำมาใช้ครั้งนี้คืองานแข่งขัน Toastmaster ปี 2015 ผู้พูดใช้สำเนียงอินเดีย คุณ"โอ" ได้สาธิตทักษะการจับใจความ ถ่ายทอดสารและเสียงให้ครบความและครบรสจากภาษาอังกฤษเป็นไทยและจากไทยเป็นอังกฤษ เรียกเสียงฮือฮาจากทางบ้านได้ไม่น้อย



เสวนาพาทีประเด็นร้อนอาชีพล่าม

การประชุมช่วงสุดท้ายเป็นเสวนาปลายเปิดโดยคุณ "ต้น" (อภิชาต เพิ่มชวลิต) "โอ" (อนิรุติ เจริญสุข) "อาร์ค" (อัครินทร์ สถิตย์พัฒนพันธ์) "ปกรณ์" (ปกรณ์ กฤษประจันทร์) และปู๊นเองค่ะ




ชีวิตการทำงานล่าม

การทำงานของล่ามครึ่งหนึ่งไม่ใช่แปล แต่คือการเตรียมตัว - อาร์ค

คุณอาร์ค ต้น และโอตอกย้ำว่าล่ามไม่ได้ทำหน้าที่แปลอย่างเดียว "การเตรียมตัว" เป็นหัวใจสำคัญและปัจจัยหลักที่ทำให้ล่ามประสบความสำเร็จ

ล่าม คือ อาชีพที่ต้องรู้กว้าง รู้ลึก และรู้จักคาดการณ์ - โอ

ล่ามไม่ใช่อาชีพที่รู้ทุกอย่างแต่ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง

คนที่อยากเป็นล่ามต้องรู้ว่าเราอยากเป็นล่ามประเภทไหนและเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ - ปู๊น


คุ้ยกระเป๋าล่าม ไอเทมลับที่ขาดไม่ได้


ของในกระเป๋าล่ามน่าตกใจก็ที่คิด เราได้เห็น "กล้องส่องทางไกล" (ต้น) "เทปกาวสองหน้าสารพัดประโยชน์" (อาร์ค) และ "พัดลม" (อาร์ค) ของจำเป็นที่ล่ามหลายคนมีเหมือนกัน คือ เครื่องเขียนและสมุดบันทึก หรือโพสต์อิทเพื่อจดระหว่างทำงาน นอกจากของจำเป็นต่างๆ แล้ว ยังเห็นขวดน้ำส่วนตัว ยาอม ขนม

ของในกระเป๋าอาจารย์ต้น อภิชาติ


อุปสรรคที่คาดไม่ถึงในการทำงาน

คุณอยากได้อาหารที่ดีแต่คุณเอาวัตถุดิบห่วยๆ มา คุณจะได้อาหารที่ดีได้ยังไง - โอ

บ่อยครั้งล่ามไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารอย่างเดียวแต่เป็นคนกลางที่คอยไกล่เกลี่ยสถานการณ์ต่างๆ ด้วย คุณโอชี้แจงว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ต้องพิจารณาว่าผู้ฟังเป็นใครและเจตนาสารเป็นอย่างไร ถ้าเป็นคำไม่สุภาพและผู้พูดต้องการสื่อสารเหมือนเพื่อนคุยกันก็ควรแปลด้วยคำระดับเดียวกัน แต่ถ้าผู้พูดเจตนาต่อว่าจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดรุนแรงเพราะสีหน้า ท่าทางจะเป็นองค์ประกอบสื่อสารในตัวอยู่แล้ว


คุณอาร์คเสริมว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ล่ามไม่ได้ต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว แต่อาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ใช้งานล่ามด้วย เช่น ผู้ว่าจ้างโกหกกับคู่สนทนาว่าล่ามแปลไม่ทัน หรือล่ามแปลผิด


นอกจากอุปสรรคด้าน "เนื้อหา" ที่ต้องจัดการแล้ว อุปสรรคจากสิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน บางครั้งบรรยากาศห้องประชุมอาจรบกวนการทำงานของล่ามได้ เช่น การทำงานในพื้นที่เปิดโล่ง ผับบาร์ โรงแรมที่เหี้ยนเรื่องผี หรือคุณภาพของตู้ที่ไม่ได้มาตรฐาน


ล่ามสามารถรับมืออุปสรรคที่คาดไม่ถึงด้วยการเตรียมตัวให้พร้อมแต่เนิ่นๆ เช่น ใครเป็นผู้ฟัง รายชื่อผู้เข้าประชุม ระบบล่ามที่ใช้ ทั้งนี้ทั้งนั้นล่ามไม่ใช่ผู้รู้ทุกอย่าง หากต้นฉบับไม่ดี ล่ามเองก็ไม่อาจจัดการเนื้อหาและถ่ายทอดเป็นภาษาปลายทาง



อัตราค่าบริการล่าม


วิทยากรแต่ละท่านได้แชร์ค่าตัวขั้นต่ำและค่าตัวสูงสุดที่เคยได้รับมา ตั้งแต่ 180 บาทต่อวัน ไปจนถึง 25,000 บาทต่อวันพร้อมทิปอีกหนึ่งแสนบาทจากผู้ใช้บริการ! เบื้องหลังค่าจ้างที่ต่ำหรือสูงเหล่านี้เผยให้เห็นชีวิตที่ไม่แน่นอนของอาชีพล่าม และ "งาน" เสริมอื่นๆ ที่ล่ามต้องทำนอกจากแปล เช่น การเป็นผู้ดูแลผู้ใช้บริการ การเตรียมการ การเป็นที่ปรึกษา ฯลฯ


หลังจากโควิด-19 ทำพิษทั่วโลก งานประชุมต่างๆ เปลี่ยนเป็นจัดออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การทำงานและค่าบริการล่ามเปลี่ยนไปเช่นกัน อาร์คได้แชร์อัตราค่าจ้างของฝั่งยุโรป อเมริกา และชี้ให้เห็นว่าเมื่อล่ามหันมาทำงานออนไลน์จะต้องเตรียมตัวมากขึ้นทำให้เรียกค่าตัวสูงขึ้นซึ่งขัดกับความเชื่อของลูกค้าที่มักมองว่า "ก็ทำงานที่บ้าน จะคิดแพงกว่าทำไม" ทางปกรณ์มองว่าอัตราค่าล่ามเหมือนเดิม แต่รูปแบบการจัดงานเปลี่ยนไป

เมื่อก่อน งานประชุมจะจัดแบบ on premise และประชุมกันอย่างต่ำครึ่งวัน แต่ทุกวันนี้ประชุมออนไลน์สั้นแค่ครึ่งชั่วโมงยังมีเลย งานจึงละเมียดขึ้น (และแหลกละเอียด) ขึ้น - ปกรณ์


เป็นล่าม ได้อะไรมากกว่าเงิน

แม้ว่าล่ามจะเป็นอาชีพที่ได้เงินสูง แต่เงินไม่ใช่คำตอบทั้งหมด มาฟังคำตอบจากวิทยากรแต่ละท่านกันว่าเป็นล่ามได้อะไรมากกว่าเงิน


ล่ามเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่มีคนจ้างให้มาเรียนและทำให้เราได้ไปสถานที่ที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้ไป เช่น คุก (หัวเราะ) - อาร์ค
เวลาผมเห็นคนเข้าใจสิ่งที่คุยกันแล้วงานมันเดินได้ ผมเห็นแล้วมีความสุขครับ - ต้น
ผมทำงานด้านสายเก็บทุ่นระเบิดตามชายแดนไทย การเคลียร์ทุ่นระเบิดช่วยให้ชาวบ้านมีพื้นที่เข้าไปทำมาหากินได้ - โอ
ล่ามคืออาชีพที่พูดตลอดเวลาแต่เราพูดจากใจคนอื่น เราไม่ได้พูดจากสมองและความคิดของเรา เราพูดเพื่อ serve คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟัง และมันพัฒนาวิธีคิดของเราให้โตขึ้น - ปกรณ์
ล่ามทำให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายๆ เรื่องที่เราไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เป็น นอกจากนี้ ล่ามยังได้เกาะติดกระแสใหม่ก่อนใครและรู้เรื่องลับก่อนคนอื่น (แม้จะบอกคนอื่นไม่ได้ก็เถอะ!) - ปู๊น

ขอขอบคุณสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่จัดงานประชุมดีๆ ครั้งนี้นะคะ ใครที่ติดใจและอยากเข้าร่วมงานประชุมดีๆ เช่นนี้อีก หมั่นติดตามข่าวสารในเพจสมาคมฯ และ ISAC ได้เลยนะคะ


แล้วเจอกันค่ะ ^^

Comments


©2023 by ISAC - Interpreter Standards and Accreditation Centre

bottom of page