top of page

"เทคนิคการล่ามและจริยธรรมล่าม" โครงการอบรมเพื่อสนับสนุนการจัดหางานกรณีค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ

  • Writer: ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
    ปู๊น ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
  • Dec 6, 2022
  • 1 min read


เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนและ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) ได้รับเกียรติจากสถาบันวิจัยและการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้บรรยายหัวข้อ “เทคนิคการล่ามและจริยธรรมล่าม” ภายใต้โครงการ “การอบรมเพื่อสนับสนุนการจัดหางานในการดำเนินการกรณีค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ” ที่โรงแรม Grand Centre Point ราชดำริ



ในการอบรมครั้งนี้ คุณปกรณ์ (ปกรณ์ กฤษประจันต์) คุณปู๊น (ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา) คุณต้น (อภิชาต เพิ่มชวลิต) เป็นตัวแทนบรรยาย โดยมีคุณอาร์ค (อัครินทร์​ สถิตย์​พัฒน​พันธ์​) เป็นผู้จัดทำเนื้อหาอบรม



ผู้เข้าร่วมอบรมเป็น “เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านภาษา” ประจำสำนักงานจัดหางานจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ จันทุบรี ตราด สมุทรปราการ ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 40 คน แบ่งการจัดอบรม 2 ครั้ง


“เอาจริงๆ ปู๊นไม่มีความรู้เรื่องหน้าที่ผู้ประสานงานเลย เพราะฉะนั้นการอบรมครั้งนี้เป็นงานที่ยากมาก เพราะเราไม่เข้าใจงานเขา แต่กรอบจริยธรรมเป็นเรื่องสากลที่ปู๊นเชื่อว่านำไปปรับใช้ได้กับทุกวิชาชีพ" ปู๊นกล่าวขณะประชุมหารือเตรียมการสอน

การทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานงานทางภาษาให้สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด (สจจ.) มีขอบเขตหน้าที่มากกว่าแค่ “ล่าม” เพราะเป็นคนกลางประสานงานระหว่าง “แรงงาน” “นายจ้าง” และ “หน่วยงานรัฐ” บางครั้งจึงต้องสวมบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำกระบวนการต่างๆ และบางครั้งต้องสวมบทบาทเป็นล่ามแปลภาษาตามกระบวนการยุติธรรม


ปัญหาที่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ต้องเผชิญคือความเหลื่อมซ้อนของหน้าที่และการตกเป็นเหยื่อในกระบวนการทำงาน ทั้งจากนายจ้าง แรงงาน และหน่วยงานในสังกัด


…ปัญหาที่เราพบในตอนนี้คือ เจ้าหน้าที่บางส่วนยังแปลไม่ถูกต้อง มีการปรับหรือเสริมเนื้อหาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติหรือนายจ้างในเคสต่าง ๆ... - เจ้าหน้าที่จาก TDRI

สมาคมฯ ได้แบ่งปันจริยธรรมวิชาชีพล่ามทั้ง 8 ข้อ ให้แก่ผู้เข้าอบรมดังนี้



  1. ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) หมายถึง การรู้หน้าที่ของเราและความสามารถของเราและปฏิบัติหน้าที่จนสุดความสามารถ

  2. ความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การตกลงเงื่อนไขการทำงานและขอบเขตความรับผิดชอบ กรณีที่เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นความผิดพลาดของตัวล่ามเอง ล่ามต้องไม่ปิดบังความผิดพลาดดังกล่าว และพยายามแก้ไขให้ถูกต้องหากเป็นไปได้

  3. ความถูกต้องและครบถ้วน (Competency) หมายถึง การถ่ายทอดความหมายอย่างถูกต้องตรงตามความหมาย เจตนา และสถานการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยถ่ายทอดให้เป็นภาษาปลายทางที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและมีความละเอียดอ่อนทางสังคม

  4. ความเป็นกลางและหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Impartiality) การแสดงตัวเป็นกลางอย่างชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ปฏิบัติงานโดยปราศจากอคติ

  5. การรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ (Confidentiality) ไม่เผยแพร่ข้อมูลของงาน หรือข้อมูลที่สามารถใช้ระบุตัวตนของผู้เข้าร่วมงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานหรือตัวบุคคลนั้น

  6. การปฏิบัติตัวต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน (Solidarity) ให้เกียรติลูกค้า ผู้ใช้บริการล่าม และเพื่อนร่วมงานภายในขอบเขตการปฏิบัติวิชาชีพของตน

  7. การเคารพในความหลากหลาย (Diversity) เคารพและเปิดรับความหลากหลายทั้งในเชิงเพศสภาพ กายภาพ วัยวุฒิ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา พื้นเพ ความคิดเห็นทางการเมือง และกลุ่มความเชื่อต่างๆ

  8. การพัฒนาตนเอง (Self-development) พึงพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ด้วยการแสวงหาความรู้และพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัย

ผู้เข้าร่วมการอบรมถูกแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณากรณีศึกษาต่าง ๆ และระดมสมองว่าหากตนเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ จะตัดสินใจรับมืออย่างไร เผยให้เห็นแง่มุมการทำงานของ "ล่าม" กลุ่มนี้มากขึ้น


ทางสมาคมฯ ขอขอบคุณ TDRI ที่ให้เกียรติเชิญสมาคมฯ เป็นผู้บรรยายในครั้งนี้ ครั้งหน้าจะจัดกิจกรรมกับหน่วยงานไหนต่อ ติดตามชมได้ทางเฟซบุ๊กและเพจสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย


Comments


©2023 by ISAC - Interpreter Standards and Accreditation Centre

bottom of page